ประกาศกรมควมคุมโรค เรื่องการป้องกันโรคที่เกิดในฤดูหนาว
เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่ฤดูหนาว อากาศที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลนี้ หากร่างกายปรับสภาพไม่ทัน ก็อาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ โรคที่เกิดขึ้นในฤดูหนาวมักจะเกิดกับเด็กละผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ โรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส และโรคอุจาระร่วง
กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ และขอแนะนำให้ทราบถึงอาการสำคัญ และการป้องกันโรค ดังต่อไปนี้
โรคไข้หวัด และโรคไข้หวัดใหญ่
ก. สาเหตุ และอาการ
โรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยการหายใจเอาเชื้อซึ่งฟุ้งกระจ่ายอยู่ในอากาศ เชื้อเหล่านี้อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ไอ จามออกมา นอกจากนี้ เชื้อยังอาจติดอยู่กับภาชนะหรือของใช้ที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย โรคนี้สามารถแพร่กระจายอย่างกว้างขวางได้ในที่ที่มีคนอยู่รวมกันมาก ๆ และอากาศไม่ถ่ายเท เช่น โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า เป็นต้น
อาการของไข้หวัดจะเริ่มด้วยการมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บหรือแสบคอ อาจมีอาการหนาวสั่นด้วย สำหรับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่นั้น จะมีอาการรุนแรงกว่า คือ ตัวร้อนจัด หนาวสั่น ปวดศีรษะและเวียนศีรษะมาก ปวดตามกระดูก กล้ามเนื้อ และมักมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย ถ้าพักผ่อนอย่างเพียงพอ และได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยจะหายจากโรคนี้ได้ภายใน 2 - 7 วัน บางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคปอดบวม หลอดลมอักเสบ คออักเสบ ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นอันตรายมากโดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุ ฯลฯ
ข. การป้องกัน และรักษา
1 . หมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นและไม่ใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้นพักผ่อนให้เพียงพอ
2 . หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด เช่น ในที่ชุมนุมชนโรงมหรสพ บนรถโดยสารที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก โดยเฉพาะในขณะที่มีการระบาดของไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่
3 . หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ถ้ามีผู้ป่วยในบ้านควรแนะนำให้ปิดปากด้วยผ้า หรือกระดาษเช็ดหน้า เวลา ไอ หรือจาม
4 . เมื่อเริ่มมีอาการไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ ควรนอนพักมากๆ และดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าตัวร้อนมากควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือกินยาลดไข้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น คือ มีอาการไอมากขึ้นหรือมีไข้สูงเกิน 5 วัน ควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ถ้าหายใจเร็ว หอบ หรือหายใจแรง จนชายโครงบุ๋ม หรือหายใจมีเสียงดัง ควรรีบไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรับการตรวจรักษา เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
โรคปอดบวม
ก. สาเหตุ และอาการ
โรคปอดบวมอาจเป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อปอดบวมโดยตรง ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อซึ่งฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ เชื้อเหล่านี้อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอจามออกมา หรือติดต่อโดยการใช้ภาชนะ และสิ่งของรวมกับผู้ป่วย มีระยะฟักตัวของโรค 1 - 3 วัน โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจที่มีความรุนแรง ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาทันท่วงที และเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กแรกเกิด น้ำหนักตัวน้อย เด็กในวัยขวบแรก เด็กขาดสารอาหาร เด็กที่มีความพิการมาแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจ เมื่อเป็นปอดบวมมักจะเป็นรุนแรง
โรคปอดบวมมักจะเกิดตามหลังโรคหวัด 2 – 3 วัน โดยจะมีไข้สูง ไอมากหายใจหอบมักหายใจเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน ถ้าป่วยหนักมักจะซึม ไม่ดื่มนม ไม่ดื่มน้ำ ถ้าไข้สูงอาจชัก บางรายมีหายใจเสียงดัง ปาก เล็บ มือ เท้าเขียว และกระสับกระส่าย บางรายอาจไม่ชัดเจน อาจไม่ไอ แต่มีอาการซึม ดื่มนม หรือน้ำน้อยลงมากถ้ามีอาการเช่นนี้ ต้องพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลถ้ารักษาช้า หรือได้รับยาไม่ถูกต้อง อาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบ ฝีในปอด เป็นต้น
ข. การป้องกัน และรักษา
1 . เหมือนกับการป้องกันไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่
2 . ควรให้เด็กเล็กหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย และควรได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ และให้อาหารเสริมอย่างพอเพียง รวมทั้งให้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนด
โรคหัด
ก. สาเหตุ และอาการ
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสหัด พบบ่อยในเด็กช่วงอายุ 1- 6 ปี ติดต่อกันได้ง่ายมาจากการไอ จามรดกันโดยตรง หรือจากการหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไป โรคหัดมักเกิดจากการระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวต่อกับฤดูร้อน
โรคหัดมีระยะฟักตัวประมาร 8 -12 วัน หลังจากนั้นจะมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง อาการต่าง ๆ เหล่านี้จะรุนแรงมากขึ้น ผื่นจะขึ้นประมาณวันที่ 4 นับตั้งแต่เริ่มมีไข้ไข้จะลดลงเมื่อผื่นกระจายไปทั่วตัว และจางหายไปภายในเวลาประมาณ 14 วัน ผู้ป่วยโรคหัดอาจมีโรคแทรกซ้อน ได้แก่ ปอดอักเสบ อุจาระร่วง ช่องหูอักเสบ สมองอักเสบและภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะในเด็กที่มีทุพโภชนาการหรือขาดวิตามินเอ เมื่อเป็นหัดจะมีความรุนแรงมากและถ้ามีปอดอักเสบร่วมด้วย อาจทำให้เสียชีวิต
ข. การป้องกัน และการรักษา
1 . เมื่อสงสัยว่าเป็นหัด ควรให้แพทย์เพื่อการวินิจฉัย และรักษาที่ถูกต้องการรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ และให้ยาที่เหมาะสมถ้ามีโรคแทรกซ้อน
2 . ให้ผู้ป่วยนอนพัก เช็ดตัวในช่วงที่มีไข้สูง และให้อาหารอ่อนที่มีคุณค่า
3 . แยกผู้ป่วยออกจากเด็กอื่นๆ จนถึงระยะ 4 – 5 วัน หลังผื่นขึ้น
4. ระวังโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เพราะระยะเวลาที่เป็นหัด เด็กจะมีความต้านทานโรคบางอย่างลดลงโดยเฉพาะวัณโรค ดังนั้นจึงต้องระวังการติดเชื้อจากผู้ใหญ่
5. หลายคนเชื่อว่าเด็กต้องออกหัดทุกคนซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะโรคหัดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยให้เด็กได้รับวัคซีนหัด 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 อายุระหว่าง 9 -12 เดือน และครั้งที่ 2 อายุ 4 -6 ปี
โรคหัดเยอรมัน
ก. สาเหตุ และอาการ
เป็นโรคทีเกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการไข้ และออกผื่นหัด แต่ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีผื่น ในเด็กเล็กมักปรากฏเล็กน้อย แต่ในผู้ใหญ่จะมีอาการประมาณ 1–5 วัน ติดต่อได้จากการสัมผัส การหายใจ จากละอองเสมหะของผู้ป่วย จากการไอ จาม โรคหัดเยอรมัน มีระยะฟักตัวประมาณ 14 – 21 วัน
โรคแทรกซ้อนที่อาจพบได้แต่ไม่บ่อย ได้แก่ อาการปวดข้อ ข้ออักเสบ สมองอักเสบ หัดเยอรมัน อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการได้ ถ้าแม่ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่าง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ผู้ที่ตั้งครรภ์และสงสัยว่าเป็นหัดเยอรมัน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด
ข. การป้องกัน และการรักษา
1 . การป้องกันโดยทั่วไปเหมือนกับโรคหัด
2 .ผู้ป่วยควรนอนพักผ่อน และทำให้ร่างกายได้รับความอบอุ่น ได้รับอาหารและน้ำดื่มอย่างพอเพียง
3 . ควรให้ผู้ป่ายหยุดงาน หรือหยุดเรียน ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
4 . แยกผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าจะป่วยออกจากผู้อื่น โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์จนถึงระยะ 7 วัน หลังผื่นขึ้น
5.โรคหัดเยอรมันเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วย วัคซีน ในขณะนี้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐให้วัคซีนรวมป้องกัน หัด คางทูม หัดเยอรมัน แก่เด็กอายุ 4 – 6 หลังได้รับวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต
โรคสุกใส
ก. สาเหตุ และอาการ
เป็นโรคจากเชื้อไวรัส ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก และน้ำลายของผู้ป่วยเข้าไปเช่นเดียวกับไข้หวัด หรือโดยการใช้ภาชนะ และของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย หรือโดยการสัมผัสน้ำเหลืองจากตุ่มพองใสในวันที่ 2 – 3 นับตั้งแต่เริ่มมีไข้ หลังจากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง แล้วเริ่มแห้งตกสะเก็ด และร่วงในเวลา 5 – 20 วัน ผื่นอาจขึ้นใน คอ ตา และในปากด้วย โดยทั่วไปโรคนี้มักไม่มีโรคแทรกซ้อน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการทางสมอง และบวมได้
ข. การป้องกัน และรักษา
1 . การป้องกันโดยทั่วไปเหมือนกันโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโรคหัด
2 . ผู้ป่วยควรพักผ่อนและให้ร่างกายได้รับความอบอุ่นเพียงพอ หากมีไข้ควรกินยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอล หากมีอาการเจ็บคอ หรือไอ ควรปรึกษาแพทย์
3 . เด็กนักเรียนที่ป่าย ควรหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์
4 . ผู้ป่วยที่มีอาการคันมากอาจใช้ยาทา (โดยปรึกษาแพทย์ก่อน) และในเด็กควรตัดเล็บให้สั้น
โรคอุจจาระร่วง
ก. สาเหตุ และอาการ
โรคอุจจาระร่วงในฤดูหนาว มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งติดต่อโดยการดื่มน้ำ หรือกินยาที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป นอกจากนี้อาจมีการติดต่อทาง น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยได้
ผู้ป่วยที่มีอาการอุจจาระเป็นน้ำ หรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการคล้ายไข้หวัด ก่อนถ่ายเหลว โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง แต่เด็กบางคนอาจขาดน้ำรุนแรงจนถึงต้องเข้ารักษาในโรคพยาบาล เด็กที่ป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงจะมีน้ำหนักลดลง และการเจริญเติบโตหยุดชะงักไปพักหนึ่ง
ข . การป้องกัน และรักษา
1 . ควรให้อาหารเหลวแก่เด็กบ่อยครั้ง เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด รวมทั้งน้ำนมแม่ แต่สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม ควรผสมนมให้เจือจางลงครึ่งหนึ่งจนกว่าอาการจะดีขึ้นถ้าเด็กยังถ่ายบ่อย ควรผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ให้เด็กดื่มที่ละน้อย บ่อบครั้ง พร้อมทั้งให้อาหารที่ย่อยง่ายรับประทาน อาการจะกลับเป็นปกติได้ภายใน 8 – 12 ชั่วโมง ถ้าให้การรักษาเองที่บ้านแล้ว อาการไม่ดีขึ้นต้องรีบพาไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที
2 . ควรเลี้ยงดูด้วยนมแม่ เพราะสะอาด ปลอดภัย และทำให้เด็กมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่างๆ
3 . ผู้ดูแลเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการเตรียมอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
4 . ให้เด็กกินอาหารที่สุกใหม่ๆ และดื่มน้ำต้มสุก
5 . ให้เด็กที่ป่วยถ่ายอุจจาระในภาชนะที่รองรับมิดชิด แล้วนำไปกำจัดในส้วมที่ถูกสุขลักษณะเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายต่อไป